ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา

พัฒนาการศึกษา สู่ทักษะชีวิตที่ยั่งยืนอย่างมีความสุข
โอ๊ต-วีระ อยู่รัมย์

เด็กๆ กว่า 130 คน ในศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ล้วนเป็นชนชาติพันธุ์ เป็นลูกหลานของแรงงานในสวนส้มนับพันไร่

โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ก่อตั้งราว 3 ปีแล้ว โดยมี โอ๊ต-วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาและมูลนิธิกระจกเงาเชียงราย เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังสถานที่แห่งนี้

ไร่ส้มวิทยาออกแบบการศึกษาขึ้นบนเงื่อนไขชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่ เงื่อนไขที่ระบบการศึกษาไทยทั่วไปไม่สามารถโอบอุ้มพวกเขาไว้ได้ ไม่ว่าจะข้อจำกัดด้านภาษา อายุที่เกินเกณฑ์ กระทั่งเงื่อนไขชีวิตที่พวกเขาต้องรับหน้าที่ดูแลน้องๆ ขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงานรับจ้างเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องครอบครัว

เด็กๆ ในไร่ส้มซึ่งส่วนใหญ่คือชาติพันธุ์ไทใหญ่และดาราอั้ง การสื่อสารภาษาไทยจึงเป็นเรื่องยาก เริ่มตั้งแต่ผู้ปกครองที่ต้องสื่อสารกับครูเพื่อฝากลูกเข้าโรงเรียน หรือเด็กๆ ที่ต้องสื่อสารกับครูและเพื่อนๆ การสื่อสารจึงกลายเป็นอุปสรรคข้อแรกที่ทำให้พวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือ

rai som 43rai som 47

อุปสรรคต่อมาคือ เมื่อเด็กๆ สมัครเข้าเรียนในวัยเกินเกณฑ์ แม้โรงเรียนทั่วไปจะไม่ได้ปิดกั้น ทว่าในความเป็นจริง การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ยืดหยุ่นพอที่เด็กๆ ต่างวัยจะสามารถเรียนร่วมกันได้

“เอาเข้าจริงเด็กที่อายุเกินเกณฑ์มักจะเข้าเรียนไม่ได้ เพราะการจัดการเรียนการสอนร่วมกับเด็กวัยทั่วไปเป็นเรื่องยาก ยากทั้งครู ยากทั้งนักเรียน ถ้าไม่มีการจัดการที่ดี อุปสรรคนี้ก็ทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เราเคยถามเด็กว่า ทำไมไม่ไปเรียนที่อื่น เขาบอกว่า ไปก็คุยไม่รู้เรื่อง”

อุปสรรคข้อที่สาม และเป็นโจทย์สำคัญของไร่ส้มวิทยา นั่นคือเงื่อนไขการดำรงชีวิตของเด็กๆ และครอบครัว ลองนึกภาพว่า เด็กคนหนึ่งต้องรับหน้าที่ดูแลน้องซึ่งเป็นเด็กเล็กในช่วงเวลาที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ขณะเดียวกัน เขาไม่อาจเรียนไปด้วยและเลี้ยงน้องไปด้วยได้ในโรงเรียนปกติ

“ที่ไร่ส้ม เด็กๆ สามารถพาน้องมาเลี้ยงและมาเรียนด้วยได้”  

rai som 5 1024x768

สิทธิการรักษาพยาบาล

ไร่ส้มวิทยาจดทะเบียนเป็น ‘ศูนย์การเรียน’ ตามกฎหมายในระดับอนุบาลศึกษาและประถมศึกษา แน่นอนว่า ช่วงแรกของการเปิดโรงเรียน วีระและทีมงานต้องเผชิญกับอุปสรรคชนิดที่แทบจะรายวัน

“กลุ่มเป้าหมายของเราส่วนมากจะเป็นเด็กไร้สัญชาติทั้งหมดเลย ฉะนั้น เมื่อเด็กเขามาแบบไม่มีอะไรเลย เราจึงต้องทำให้เด็กเข้าสู่ระบบ G (นักเรียนรหัส G หมายถึง นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน) ของ สพฐ. แต่สำนักงานเขตก็ไม่สามารถออกให้ได้ โอ้ วุ่นวายพอสมควร”

rai som 15 768x433rai som 12 768x576

rai som 1 768x517

แม้ท้ายที่สุด วีระสามารถประสานงานจนกระทั่งเด็กๆ กลุ่มนี้ได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก ตามที่กฎหมายรับรอง ทว่าบัตรประจำตัวนี้ไม่ได้ให้สิทธิเช่นเดียวกับบุคคลสัญชาติไทยหรือกลายเป็นบุคคลสัญชาติไทยแต่อย่างใด

โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึง

“มีอยู่เคสหนึ่ง เด็กไปเจออุบัติเหตุ แล้วไปหาหมอ หมดไปตั้งหมื่นกว่าบาท ตอนแรกเขาจะไม่ไปเพราะไม่มีตังค์ เราก็บอกว่าไปเถอะ เดี๋ยวจะคุยกับโรงพยาบาลเอง แต่เราก็ไม่มีเงินจ่ายนะ ขอติดหนี้ไว้ก่อน เซ็นเอกสารต่างๆ โรงพยาบาลเขาก็จะมาทวงกับเรา ขณะเดียวกัน เราก็กำลังผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้ได้สิทธิด้านสุขภาพ ถ้าเด็กได้สิทธิตรงนี้ เขาก็ไม่ต้องจ่ายเงิน”

เมื่อประเด็นด้านสุขภาพของนักเรียนครอบคลุมเพียงแค่โรงเรียนในสังกัด สพฐ. และยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ครอบคลุมถึงเด็กๆ ในเด็กในศูนย์การเรียน จึงเป็นเรื่องที่วีระและทีมงานต้องผลักดันต่อไปเพื่อลดช่องว่างความความเหลื่อมล้ำเรื่องระบบสาธารณสุขของเด็กในศูนย์เรียนรู้และการเลือกปฏิบัติต่อเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  

rai som 44 768x513

“เราได้ไปคุยกับทีมกระทรวงสาธารณสุข ด้วยกลุ่มเป้าหมายของเด็กในสถานศึกษาทั้งหมดในประเทศไทยมีอยู่ 70,000 กว่าคน แต่มีเงื่อนไขว่า เด็กต้องมีเลขประจำตัว 13 หลักให้ได้ก่อน แล้วจึงไปเสนอ ครม. เมื่อปีที่แล้วก็ได้เสนอ ครม. ไป ได้มา 3,000 กว่าคน แต่อีก 60,000 กว่าคนล่ะ ก็ยังไม่เสร็จ ตรงนี้เราก็กำลังเจรจาและทำข้อเสนอเชิงนโยบายกันอยู่”

เงินอุดหนุนรายหัว ที่ไม่ใช่ทุกหัว

ถัดจากประเด็นด้านสิทธิการรักษาพยาบาล คือ ‘งบอุดหนุนรายหัว’ ที่สะท้อนภาพของความเหลื่อมล้ำชัดเจน วีระเล่าว่า แม้ไร่ส้มวิทยาจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชน ทว่าไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ จากรัฐ ซึ่งหากเมียงมองไปยังศูนย์การเรียนอื่นๆ ที่จดทะเบียนโดยองค์กรธุรกิจหลายแห่ง กลับได้รับการสนับสนุนงบอุดหนุนรายหัวกันอย่างถ้วนหน้า

rai som 29 1024x768

“ยกตัวอย่างปัญญาภิวัฒน์ เขาก็จดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนโดยองค์กรธุรกิจ ใช้กฎหมายเดียวกัน เพียงแค่กฎกระทรวงคนละอัน แต่รัฐมีงบสนับสนุนให้ ตรงนี้เห็นชัดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเลย ทำไมจดโดยองค์กรธุรกิจ รัฐจึงสนับสนุน ต่างจากการจดโดยองค์กรชุมชนและเอกชน ทำไมรัฐจึงไม่สนับสนุน”

ปัญหานี้อยู่ที่ตรงไหน เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่? จากความสงสัยนี้ วีระจึงต้องสืบสาวก่อนจะพบว่า เมื่อกฎกระทรวงที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการสนับสนุนงบประมาณรายหัวของสถานศึกษา เช่น ศูนย์การเรียน มีเงื่อนไขระบุห้อยท้ายไว้ว่า ‘รัฐอาจจะสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนรายหัว’

“ซึ่งคำว่า ‘อาจจะ’ นั่นแปลว่าไม่มี เราตีประเด็นให้เขาเห็นว่าทำไมมันถึงเหลื่อมล้ำอย่างนี้ได้ แต่เราจะไม่ตีโพยตีพาย สิ่งที่ต้องทำคือ เราต้องไปแก้ที่กฎกระทรวง ให้รัฐสนับสนุนเราเหมือนศูนย์การเรียนที่จดโดยองค์กรภาคธุรกิจให้ได้”

rai som 10 1024x684rai som 9 1024x768rai som 23 1024x768

แม้วีระและทีมงานจะเริ่มต้นก่อร่างสร้างศูนย์การเรียนด้วยพลังของความอยากเปลี่ยนแปลง แต่เอาเข้าจริง การสร้างโรงเรียนสักแห่งด้วยเงื่อนไขมากมายและงบประมาณที่จำกัด – ไม่ง่ายเลย

“ตอนแรกเรานึกว่าง่าย แต่พอทำจริงๆ กลับไม่ง่ายเลย มีเรื่องมากมายที่ต้องทำ มากกว่าการจัดการเรียนการสอน รวมถึงเรื่องคุณภาพชีวิตพวกเขาด้วย”

การเรียนที่กินได้ 

การเรียนการสอนของที่นี่ ถูกคิดและออกแบบจากเงื่อนไขชีวิตของเด็กๆ ที่ส่วนใหญ่คือลูกหลานแรงงานในสวนส้มหลายแห่งในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งคือคนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานมนาน และอีกส่วนคือเด็กๆ จากประเทศเพื่อนบ้านที่ติดตามครอบครัวซึ่งย้ายถิ่นฐานมาหางานทำในประเทศไทย

สิ่งที่ทีมงานและบุคลากรของศูนย์การเรียนแห่งนี้เริ่มต้นทำ มีอยู่สองข้อใหญ่ๆ คือ การทลายความกลัวและเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงการเรียนรู้ทักษะชีวิต ประหนึ่งการเรียนที่กินได้ เอาไปใช้ได้ และอยู่รอดได้ 

rai som 17 1024x577

หนึ่ง ต้องทำให้เด็กๆ เห็นว่า ถึงพวกเขาจะเป็นลูกแรงงานไร้ฝีมือ เขาก็สามารถที่จะเป็นแรงงานที่มีฝีมือได้

สอง เราจดทะเบียนภายใต้รัฐ ดังนั้น สาระการเรียนรู้จึงต้องอิงจากกรอบที่รัฐวางไว้ แต่ด้านหนึ่งคือ ไร่ส้มวิทยาออกแบบการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม Project-based Learning (PBL – การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน) ทุกวิชาตามสาระการเรียนรู้จึงสามารถบูรณาการเข้าไปในกิจกรรมหนึ่งได้

“เช่น วิชาปลูกผัก ก็สามารถรวมกับวิทยาศาสตร์ก็ได้ คณิตศาสตร์ก็ได้ สังคมก็ได้ ระบบนิเวศก็ได้ ได้หมดเลย หรือเด็กตั้งชมรมอาหารและเครื่องดื่ม เราก็ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการประกอบอาหาร เริ่มตั้งแต่การจดสูตรอาหาร บันทึก คำนวณ ชั่ง ตวง ได้หมดทุกวิชา

“ถ้าเราไม่ไปประยุกต์แบบนี้ มันก็เหมือนการใช้แรงงานเด็กทำกับข้าวนั่นแหละ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ ให้เขาได้มีทักษะเพิ่มขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะเรื่องการสื่อสาร การนำเสนอ การพูด การคิด เด็กต้องมีครบ”

rai som 41 1024x578rai som 28 1024x768rai som 27 1024x578

rai som 21 1024x578

การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต อาจฟังดูไม่ยากเท่ากับการทำงานทางความคิด เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกลดทอนความเป็นมนุษย์นับแต่จำความได้ เพียงเพราะไร้สัญชาติไทยและเป็นชนชั้นแรงงาน – งานนี้สิไม่ง่าย ทำอย่างไรการเรียนรู้จึงจะเติมเต็มความรู้สึกพร่องในตัวของเด็กๆ

“เราต้องทำให้เขารู้ว่า เราทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน เรื่องบัตรประชาชนนั้น มันคือสิ่งสมมุติที่รัฐตั้งขึ้นมา ดังนั้นอย่าจำนนว่าการที่เราไม่มีบัตร แปลว่าเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้ เราต้องปลดล็อคความคิดตรงนี้

“ส่วนใหญ่แล้วเขาก็ฟังกระแสสังคมจนบางทีมันบีบตัวเอง เช่นคำว่า ‘พวกไร้การศึกษา’ เราจึงต้องให้เขาเข้าใจตรงนี้และเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันของทุกคน ถ้าเราทลายตรงนี้ไปได้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กดคนกลุ่มนี้ไว้ก็จะน้อยลง”

rai som 49 1024x768rai som 50 1024x768

rai som 20 1024x578

โควิด-19 ไม่น่ากลัวเท่าความหิว

อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีตัวเลขเป็นศูนย์ แม้ตำบลใกล้เคียงจะเริ่มมีผู้ติดเชื้อบ้างประปราย แต่ความกลัวต่อโรคภัยในเวลานี้ก็อาจไม่เท่าความหิว เมื่อเกิดการระบาด ทุกสิ่งหยุดชะงัก ไม่ว่าจะงาน รายได้ หากสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยชะงักเลยก็คือ ‘รายจ่าย’ ในเมื่อมนุษย์ยังต้องกินต้องใช้เพื่อดำรงอยู่

“แรงงานกลุ่มนี้ต้องซื้อทุกอย่าง เพราะเขาผลิตอะไรไม่ได้ ไม่มีที่ให้เพาะปลูก เป็นแรงงานรับจ้างรายวัน เขาก็ต้องอยู่ตามสภาพ จากที่เราเห็นวิถีของเขาช่วงโควิดว่าตื่นเช้ามาเขาต้องเจออะไรบ้าง บางครอบครัวมาม่าซองเดียวกินกันทั้งครอบครัว เขาต้องการแค่ให้ท้องอิ่ม ถามว่าได้สารอาหารครบไหม ไม่รู้ แต่อย่างน้อยไม่หิว มีแรงไปรับจ้างต่อ เขามองแค่นั้น เอาอะไรใส่ท้องก็ได้ ขอแค่ให้อิ่ม

“เด็กบางคนมาโรงเรียน โอ้โห กินเยอะมาก ตอนแรกเรางงมากนะ ทำไมเด็กกินเยอะอย่างนี้ แต่พอไปดูพื้นฐานครอบครัว ถึงรู้ว่าเขาไม่มีกิน”

rai som 37 1024x768rai som 39 1024x768

ในยามที่สถานการณ์ปกติ ชีวิตของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัวของเด็กไร่ส้มวิทยาที่ส่วนใหญ่คือแรงงานข้ามชาติ ล้วนต้องกระเบียดกระเสียร อดออมจากรายได้วันต่อวันอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤติที่พ่วงมากับงานและเงินที่ลดลง การใช้ชีวิตอยู่ของเหล่าแรงงานและลูกหลานจึงต้อง ‘ตามสภาพ’

ส่วนการเยียวยาจากรัฐ “ไม่มี ไม่มีเลย” วีระว่า

แรงงานในสวนส้ม ถือเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พวกเขาต้องกันเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ ส่งเข้าสมทบกองทุนประสังคมทุกเดือน ไม่ต่างจากแรงงานไทย แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การเข้าถึงสิทธิว่างงานของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติกลับมีความยุ่งยากกว่าแรงงานไทย ทั้งที่เป็นสิทธิที่ผู้ประกันตนทุกคนพึงได้รับ

เงินเยียวนยาโควิดที่แรงงานไทยทุกคนได้รับ ผ่าน ‘ม.33 เรารักกัน’ – พวกเขาไม่ได้

“ทำไมแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนถูกกฎหมาย จ่ายประกันสังคมทุกเดือน ทำไมเขาถึงไม่ได้รับการเยียวยาโควิด ม.33 เพราะเขาไม่ใช่พลเมืองไทยหรือ เรื่องนี้เราได้ไปคุยที่กระทรวงแรงงานกับทีมแรงงานในระบบ เขาก็บอกว่าไม่ใช่เงินของประกันสังคม แต่เป็นเงินที่กู้มาสำหรับคนไทย สิ่งนี้เราเห็นเลยว่ามันคือเรื่องเชิงโครงสร้าง นโยบายและกฎหมาย แต่ถ้าคนทำงานเป็นคนร่างนโยบาย มันก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง”  

rai som 48 1024x682

โควิดรอบแรก ส่งผลให้โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอม เด็กอยู่บ้านนานขึ้น โรงเรียนปิดนานขึ้น การเรียนรู้ของเด็กถูกทิ้งช่วงนานขึ้น ไร่ส้มวิทยาจึงใช้กิจกรรมปลูกผักและเพาะเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เด็กๆ และผู้ปกครองนำไปปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเล็กๆ น้อยๆ และสร้างกิจกรรมที่เด็กๆ และผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกัน

เมื่อเด็กมาโรงเรียนไม่ได้ ครูจึงต้องไปหาเด็ก

“โควิดระลอกล่าสุด เรายังไม่ได้มีกิจกรรมอะไรออกมามาก กำลังวางแผนเพื่อที่จะลงเยี่ยมเด็กๆ และทำหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ร่วมกับ Unicef แล้วเอาไปให้เด็กในชุมชน แต่บางพื้นที่เขาไม่ให้คนนอกเข้า เขากลัว เราก็ต้องประเมินอีกที”

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไร่ส้มวิทยาก่อตั้งและดำเนินการด้วยการระดมทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะอาคาร อุปกรณ์การเรียน ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องดนตรี ตลอดจนเงินเดือนของครู 9 คน  

rai som 14 1024x683

สำหรับวีระ ไร่ส้มวิทยาเติบโตอย่างรวดเร็วเกินคาด ไม่ว่าจะโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน ศักยภาพครู และพัฒนาการของนักเรียน แต่ถึงอย่างนั้นอุปสรรคและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างและนโยบายก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันต่อเนื่อง

“ครั้งแรกที่เราส่งทีมมาที่ไร่ส้ม ที่นอนยังไม่มีเลย ยังนอนในรถกันอยู่เลย อาคารเรียนก็ยังเป็นไม้ไผ่อยู่ เผลอแป๊บเดียว ขึ้นเป็นอาคารแล้ว เร็วมาก”

สิ่งสำคัญคือมุมมองของผู้บริหารโรงเรียนที่ยืนอยู่บนความเชื่อในศักยภาพมนุษย์ การให้อิสระกับครูในการออกแบบห้องเรียน และการให้อิสรภาพทางการเรียนรู้แก่เด็กๆ

rai som 46 1024x683

“เราให้อิสระกับครู ไม่อย่างนั้นครูก็จะเกร็ง แต่เราไม่ปล่อยปละ เรามีการทำงานเป็นฝ่าย และมีประชุมทุกเดือน เมื่อครูมีอิสระในการออกแบบการสอน มีความมั่นใจ เขาจะทำได้ดี ไม่ใช่ประชุมเพื่อจับผิดครู แต่เรามาเพื่อซัพพอร์ตเขา

“อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องผลักดันด้านกฎหมายและนโยบายต่อไป สังเกตว่าเราแทบไม่ได้อยู่โรงเรียนเลย นานๆ มาที จนเด็กๆ ก็งงว่า ไอ้นี่เป็นใครวะ เราไม่ค่อยไปยุ่งเรื่องการเรียนการสอนนะ บางทีเด็กก็งงว่าเราคือใคร กว่าจะได้เจอกันแต่ละทีก็ตอนประชุมผู้ปกครอง เด็กก็เลย อ๋อ…คนนี้เป็นผู้อำนวยการเหรอ (หัวเราะ)”